ระดับจิตใจของ ‘ทุนมนุษย์’

ตีพิมพ์ครั้งแรก: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พ.ย. 2558

‘ทุนมนุษย์’ (Human Capital) ในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง ความสามารถของมนุษย์ที่นำไปใช้ในการ สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ (หมายถึงการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ)    โดย ‘ทุนมนุษย์’ มีความหมาย ครอบคลุมไปถึง ความรู้ ทักษะการบริหาร ประสบการณ์ รวมถึงสุขภาพของมนุษย์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผล ต่อประสิทธิภาพในการผลิตของมนุษย์

‘ทุนมนุษย์’ ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน เพราะการเลือกลงทุนที่ต่างกัน   โดยหากต้องการเพิ่มทุนมนุษย์ ให้มีมากขึ้น ก็สามารถลงทุนได้โดยเพิ่มการศึกษา พัฒนาทักษะและความสามารถในด้านต่างๆ    นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทุนมนุษย์  เพราะถ้ามนุษย์ในประเทศไหน ‘เก่ง’ ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศก็จะดีขึ้น ประเทศก็จะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น (รวยขึ้น) และพอจะมีหวัง ที่จะก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้

เราคุยกันทุกวันเรื่องการยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน   ในแบบจำลอง (Growth Model) ของนักเศรษฐศาสตร์ มีตัวแปรต่างๆที่มีผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ทุน (Capital)

ที่ดิน (Land) เทคโนโลยี และ ทุนมนุษย์ในมิติด้านความสามารถ  แต่แบบจำลองต่างๆเหล่านั้น ได้มองข้ามมิติทางด้าน ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ระดับจิตใจ’ อันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งของทุนมนุษย์ไป

จริงๆแล้ว หากมนุษย์มีระดับจิตใจที่สูง (คือมีคุณธรรมสูง) มีความละอายและเกรงกลัวต่อการโกง (และการทำชั่วอื่นๆ) ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศก็จะสูงขึ้น เพราะการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน ของกระบวนการการผลิตที่เกิดจากการคอร์รัปชันจะน้อยลง  ไม่ต้องสูญเสียวัตถุดิบหรือสินค้าไปให้กับ การโกง  ไม่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ของคุณภาพด้อยกว่า (คือเสียโอกาสที่จะได้ของดีราคาถูก)  หากคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากจะโกง  ระบบตรวจสอบก็เหนื่อยน้อยลง (ขอย้ำว่าระบบตรวจสอบนั้นต้องมี ไม่ใช่บอกว่าใครเป็น ‘คนดี’ แล้วไม่ต้องตรวจสอบ   หากเพียงแต่ถ้าคนไม่ได้โกง ระบบตรวจสอบก็ไม่ต้อง ทำงานหนักมากนัก)  สังคมไม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการจับคนโกงและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการโกง จะได้เอาเวลาไปทำเรื่องอย่างอื่นที่มีประโยชน์ ที่ทำประเทศให้เจริญก้าวหน้า

‘ระดับจิตใจ’ ของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เพราะการเลือกลงทุนที่ต่างกัน   โดยหากต้องการยกระดับ จิตใจให้สูงขึ้น คงจะต้องหมั่นเพียรที่จะขัดเกลาจิตใจ ให้โลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง มีความละอายและเกรงกลัวต่อการทำชั่ว (หากยังมือใหม่ ไม่เข้าใจว่าอะไรคือชั่ว ขอให้เริ่มจากการละเว้น จากการเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสังคม  อะไรที่ทำแล้วคนอื่นเดือนร้อน สังคมเดือดร้อน จงละเว้นเสีย)   รวมไปถึงการไม่สนับสนุนและไม่ยกย่องการกระทำชั่วของผู้อื่น หากผู้บังคับบัญชาสั่งมา ให้คุณทำเรื่องไม่ดี จงอย่าหลับหูหลับตาทำ จงบอกเขาไปว่าคุณไม่ทำเพราะมันไม่ถูก ถ้าเขาเป็นนายที่ดี เขาจะคิดได้ แต่ถ้าเขายังยืนยันบังคับให้คุณทำชั่ว จงหนีห่างเขามาเสียเถิด นายแบบนี้ไม่น่าเคารพนับถือ อยู่ต่อไปอาจมีเรื่องที่ชั่วกว่านี้มาบังคับให้คุณทำ   จงอย่ายกย่องคนที่เก่งแต่ไร้คุณธรรม พูดจาโกหก บิดเบือนความจริง   จงหนีห่างคนชั่วและคนที่จะชักจูงคุณให้ไปทำชั่ว เพราะยิ่งอยู่ใกล้จะยิ่งดึงให้คุณชั่วลง

คำว่า ‘มนุษย์’ แปลว่าผู้มีจิตใจสูง  แต่ทุกวันนี้ความหมายของคำๆนี้แทบจะถูกลืมไป   สังคมมักหลงลืม และให้ความสำคัญกับความสามารถทางโลก มากกว่าระดับของจิตใจ  จริงๆแล้วการพัฒนาทางด้าน เศรษฐกิจนั้น เราคงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพแรงงานและการยกระดับจิตใจของมนุษย์ ไปพร้อมๆกัน  เพราะหากมุ่งเพียงแต่จะยกระดับคุณภาพแรงงานเพียงอย่างเดียว แม้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ก็จะไม่ยั่งยืน

 

Leave a comment

Website Built with WordPress.com.

Up ↑